ดนตรีบำบัด (Musical Therapy)
ดนตรีบำบัด คือ การนำดนตรี และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีมาใช้ประกอบ เพื่อการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผลในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างทักษะ และการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ กายภาพ การสื่อสาร สังคม และอารมณ์ของผู้ที่เข้ารับการบำบัด
ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกายและทางจิตเวช (กรีกเป็นชาติแรกใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า) มีการค้นพบว่าดนตรีใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอดจากการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียดกังวล แยกตัวจากสังคม หรือคนพิการซ้ำซ้อนได้ดีตลอดจนผู้ป่วยจิตเภท ผู้มีพฤติกรรมถดถอย เหงาเศร้าได้ อีกทั้งยังได้นำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชพบว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง พฤติกรรมถดถอย แยกตัว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ผู้เหงาเศร้าจะยิ้มแย้มได้ หลังจากไม่เคยยิ้มมานานแล้ว น่าแปลกใจที่เสียงเพลงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้
ดนตรีบำบัดสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในคนทุกเพศทุกวัยและดนตรียังช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็กปกติได้โดยการผ่อนคลายความตึงเครียด เพิ่มความสุขและความมั่นใจ เตรียมเด็กให้พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยการฝึกประสาทหูให้รับฟังเสียงที่สูงต่ำ เรียนรู้การสร้างจินตนาการตามเสียงและจังหวะเพลง เรียนรู้การฟัง และการฝึกการทำความเข้าใจจากการสื่อสารกับครู ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลง การแสดงออกทางสีหน้าร่วมไปกับการเรียนรู้การเข้าสังคมและการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้น เรียนรู้การฝึกความอดทนและรอคอยคิวของตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ที่เหมาะสมและรู้จักการปลดปล่อย และระบายอารมณ์ เพื่อช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากเด็กแล้วดนตรีบำบัดยังสามารถใช้รักษาภาวะเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความจำเสื่อม ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่มีปัญหาทางจิต ผู้มีความเครียด คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้เจ็บป่วยในระยะสุดดนตรีบำบัดได้ถูกนำมาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ แม้แต่การคลอดบุตรก็มีการใช้เป็นที่ได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้ทารกดูดนมและนอนหลับได้มากขึ้น ช่วยในการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่อง หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กพิการ เด็กที่มีสติปัญญาบกพร่อง เด็กออทิสติก
คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมดนตรีบำบัดให้กับลูกได้นะคะ โดยหาเพลงให้ลูกฟังไม่ว่า จะเป็นเพลงคลาสสิค เพลงป๊อป หรือ เพลงอะไรก็ได้ที่ลูกชอบ โดยไม่ต้องบังคับลูก เด็กควรจะรู้สึกชอบด้วยตัวเองและเขาก็จะฟังอย่างมีความสุข ซึ่งสามารถเริ่มให้ลูกฟังดนตรีได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยการเปิดเพลงแล้วใช้หูฟังแนบที่ท้อง เมื่อลูกโตขึ้นก็ให้เรียนดนตรี ร้องเพลง หรือเต้นรำก็ได้ ซึ่งการเรียนดนตรีนั้นนอกจากความเพลิดเพลิน แล้วเด็กก็ยังได้ฝึกทักษะอย่างอื่น เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับสมอง ทั้งยังสามารถรู้จักตัวโน้ต ฝึกความพากเพียรและรับผิดชอบด้วย เพราะต้องคอยซ้อมบ่อยๆ เพราะฉะนั้นนอกจากจะช่วยบำบัดอารมณ์แล้ว ยังสามารถส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีด้านอื่นๆ ได้อีก การให้ลูกน้อยฟังเพลงตั้งแต่ในครรภ์เป็นประโยชน์มากนะคะ เพราะมีรายงานการวิจัยว่าทารกสามารถได้ยินเสียงทางหน้าท้องแม่ สามารถแยกความแตกต่างของระดับเสียงได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเพลงคลาสสิค ทารกจะชอบมาก โดยดูจากการเต้นของหัวใจที่จะเต้นเพิ่มขึ้นในขณะที่ได้ฟังเพลง
จากการวิจัยพบว่าดนตรีบำบัดสามารถใช้กับเด็กทั่วไปได้ เพราะจะช่วยพัฒนา IQ และ EQ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกของชีวิต ประมาณ 0-3 ปี เป็นช่วงที่เหมาะสมมากที่จะพัฒนารากสมองให้เจริญเติบโตขึ้น พ่อแม่สามารถสร้างกิจกรรมดนตรีบำบัดให้ลูกได้ เช่น การร้องเพลงให้ฟัง จับลูกโยนตัวไปมา หาเพลงให้ลูกฟัง ซึ่งจะเป็นเพลงคลาสสิค หรือเพลงสมัยใหม่ก็ได้ สามารถใช้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็กๆ การใช้เพลงกล่อมเด็กเป็นสิ่งที่ดีมากนะครับ เพราะเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาสำหรับเด็ก ทั้งท่วงทำนองนุ่มนวลและเนื้อเพลงที่มีความหมายดี ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น ทั้งยังทำให้ลูกได้ใกล้ชิดกับแม่ แม้กระทั่งการไกวเปลในขณะร้องเพลงให้ลูกฟัง ก็ยังเป็นการสร้างความรักความอบอุ่นให้ลูกได้ เพราะว่าเด็กสามารถสัมผัสถึงจังหวะในการไกวเปลได้อีกด้วย
การที่พ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกน้อยเล่นดนตรีไม่ได้หมายถึงการเล่นเครื่องดนตรีที่จริงจังหรอกนะคะ จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโตแล้วพาไปเรียนดนตรีอย่างเดียว การเล่นของเล่นที่ให้เสียงก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน ของเล่นชิ้นเล็กที่เขย่าแล้วเกิดเสียงนำมาให้ลูกเล่นได้ค่ะ ลูกอาจโยกตัวตามเสียงที่เคาะเป็นจังหวะ นั่นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของเขาแล้วค่ะ ทั้งยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือด้วย นอกจากการเล่นดนตรีของลูกน้อยแล้ว การที่ให้ลูกมีประสบการการฟังดนตรีหลายชนิด จะทำให้เขารู้จักดนตรีเยอะขึ้น และเลือกดนตรีที่เขาชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลง การแข่งขัน หรือ การพาลูกน้อยไปฟังเพลง ชมคอนเสิร์ตสามารถช่วยพัฒนาการของลูกได้มากทีเดียว การทำกิจกรรมดนตรีด้วยกันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วยนะคะ การที่ให้ลูกน้อยเรียนดนตรี ไม่ใช่ทำให้รู้จักตัวโน้ตหรือเล่นดนตรีเป็นอย่างเดียว แต่ดนตรียังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกด้วย การจำตัวโน้ตช่วยฝึกความจำ การประสานสัมผัสมือ ตา และสมอง การเข้าสังคม และอารมณ์ที่เป็นสุข เดี๋ยวนี้มีหลักสูตรดนตรีที่ให้ผู้ปกครอง เข้าไปเรียนกับลูกด้วยนะคะ นอกจากจะช่วยให้ลูกเรียนได้ดีขึ้นเพราะมีพ่อแม่ช่วยทบทวนแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ตามที่กล่าวไว้ในตอนแรกนะคะลักษณะทางอารมณ์ของแต่ละคน ทุกคนก็จะมีความแตกต่างกันไปในการรับฟังเพลงก็เช่นเดียวกันค่ะการรับฟังเพลงนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลการเลือกรับฟังเพลงที่มีความเหมาะสมกับสภาวะทางจิตใจนั้นจะก่อให้เกิดผลในด้านการบำบัดตามความหมายของดนตรีบำบัดค่ะ ครั้งหน้าเราจะมาดูกันว่าการฟังเพลงในลักษณะใดที่จะเหมาะสมในการบำบัดอารมณ์สำหรับลูกน้อย
ในการจะใช้ดนตรีบำบัดสำหรับลูกน้อยนั้นเราต้องเลือกให้เหมาะสมตามสภาวะทางอารมณ์ของลูกในแต่ละคนซึ่งจะแสดงออกมาทางพฤติกรรที่แตกต่างกับออกไป การเลือกดนตรีให้เหมาะกับภาวะทางอารมณ์ของลูกมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ของลูกน้อย
มีคำกล่าวว่า คนเรียนดนตรีคลาสสิค บอกถึงความเป็นคนละเอียดใจเย็น แต่คนที่คล่องแคล่วเคลื่อนไหวรวดเร็วก็น่าจะชอบแบบร็อค ซึ่งดนตรีแต่ละอย่างก็สามารถทำให้ผู้เรียนไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครจะชอบแบบไหนมากกว่า เพราะฉะนั้นการเลือกดนตรีให้กับลูกน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องคำนึงถึงความชอบของลูกน้อยด้วย ล
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูก...อารมณ์ร้อน ถ้าลูกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายก็อาจจะเลือกเพลงที่เย็นๆ นุ่มๆ ฟังสบายๆ เปิดไว้ทั้งวัน จะช่วยทำให้อารมณ์เย็นขึ้นได้ ซึ่งโดยมากน่าจะเป็นเพลงบรรเลงที่มีความช้าของจังหวะ มีความเรียบของทำนอง หรือ เพลงคลาสสิค เช่น เพลงของ Beethoven ถ้าเป็นเพลงไทยก็อาจจะเป็นช้าๆ เช่น เพลงบัวขาว ก็จะช่วยให้รู้สึกดื่มด่ำกับดนตรีและเนื้อเพลงด้วย
สำหรับพ่อแม่ที่ลูกมีภาวะซึมเศร้า ก่อนอื่นเราลองมาสังเกตุอาการซึมเศร้าในเด็กกันก่อนดีกว่าค่ะโดยเด็กที่อยู่ในภาวะนี้จะมีอาการซึมๆ ไม่ร่าเริงไม่เบิกบาน ร้องไห้บ่อย ไม่สนุกกับสิ่งแวดล้อม นอนไม่หลับหรือหลับมากผิดปกติ ความคิดช้า เคลื่อนไหวช้า หรือหงุดหงิดกระวนกระวาย รู้สึกอ่อนเพลียหากเจ้าตัวเล็กของคุณมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ลองเปิดเพลงที่ดูครื้นเครงดูสิคะ เช่น เพลงที่มีจังหวะสั้น หรือเร็ว เช่น เพลงยุคคลาสสิคของโมสาร์ท เพลงสมัยใหม่ก็เป็นเพลงที่เต้นแล้วสนุก เช่น เพลงแร็พ ซึ่งจะช่วยทำให้อารมณ์ซึมเศร้าคลายลงและรู้สึกสนุกสนานขึ้นค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจลองนำไปใช้กับลูกน้อยดูนะคะ บางทีอาจจะพบว่า เสียงดนตรีที่ไพเราะ จังหวะที่เหมาะสม ช่วยบำบัดอารมณ์ให้สงบเย็นและเป็นสุขได้ ผลของการบำบัดด้วยดนตรีในเด็กพบว่าดนตรีบำบัดจะช่วยให้โลกของเด็กจะเปิดกว้างขึ้น โดยมีดนตรีเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เสียงดนตรีจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลดความหวาดระแวง และวางใจในสัมพันธภาพกับผู้อื่น อีกทั้งยังทำให้เด็กจะรู้จักตัวเองมากขึ้นโดยผ่านการใช้เสียงดนตรีที่กระตุ้นให้เขาแสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมา
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีสมาธิสั้น หรือ เป็นเด็กที่มีความสนใจสั้น ความหมายของเด็กสมาธิสั้น ก็คือ เด็กที่ซนหรือว่าดื้อมาก ไม่ชอบอยู่นิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่นั้น จะมีการถ่ายทอด ทางพันธุกรรม ในเรื่องของ ระบบประสาท และสารเคมีในสมอง หรือเกิดจาก สภาพของสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เหมาะสม เด็กที่มีระดับสติปัญญาปกติ สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท ดังนี้
เด็กสมาธิสั้นประเภทแรกจะเกิดความบกพร่อง ทางสมอง ซึ่งเด็กพวกนี้จะ ขี้หลงขี้ลืม เหม่อลอย มีความช่างฝัน ประมาณว่าชอบทำของหายบ่อยๆ ให้ความสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่คนปรกติไม่ให้ความสำคัญ ไม่สามารถที่จะเข้าใจ ในประโยคคำสั่งที่ยาวๆ มีความลำบากในการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สมองความคิดเป็นเวลานานๆ
ส่วนประเภทที่สองเด็กจะมีลักษณะไม่ชอบอยู่นิ่ง นึกอยากทำอะไรก็ทำ คือเด็กที่มีอาการ หุนหันพลันแล่น ประมาณว่า ชอบพูดคุยจนมากเกินไป ลุกนั่งเดินวิ่งบ่อยๆ มีอาการลุกลี้ลุกลน ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักระมัดระวังอันตราย มีอารมณ์แปรปรวน ไม่มีความอดทน ขี้ฟ้อง ชอบพูดขัดจังหวะผู้อื่น
พ่อแม่และครูจะมีความเห็นตรงกันว่าเป็นคนฉลาด แต่เด็กเรียนหนังสือไม่ได้ สอบตกหลายวิชา ต้องซ่อมเทอมละ 4-5 วิชา ผู้ใหญ่จะเข้าใจว่าเด็กนั้นไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียนเวลาอยู่ในห้อง ชอบพูดชอบคุย นั่งไม่นิ่ง บางคนจะเหม่อลอยไม่ฟังครู งานในห้องมักทำไม่เสร็จ การบ้านไม่ทำและไม่ส่งหรือทำไม่เสร็จ เด็กมักลืมทำในสิ่งต่างๆ ที่ถูกมอบหมายให้ทำ พ่อแม่จะรู้สึกเครียดมาก ควรใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ลูกกลับใช้เวลาถึง 3-4 ชั่วโมง เป็นต้น เด็กเหล่านี้มีความผิดปกติที่ทางการแพทย์ บางครั้งจะเรียกเด็กกลุ่มนี้ได้อีกอย่างหนึ่งว่า เด็กไฮเปอแอคทีฟ
เราสามารถฝึกความสนใจและสมาธิให้ยาวขึ้นด้วยการเปิดเพลงให้ฟังวีดีโอ ร้องเพลง หรือเรียนดนตรีก็ได้วันละประมาณ 10-20 นาที เช่น ถ้าเขาชอบเพลงของศิลปินคนไหนก็อาจให้เขาได้ร้องเพลงนั้นก็ได้ตามที่เขาชอบ คุณแม่ก็จะเห็นพัฒนาการของคุณลูกที่มีความสนใจนานขึ้น มีสมาธิมากขึ้น แต่ต้องทำบ่อยๆ นะคะ เพียงแค่ครั้งสองครั้งยังไม่เห็นผล ต้องใช้เวลาค่ะ นอกจากนี้ผลจากการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ในเรื่อง เพลงเด็ก พบว่า การให้เด็กที่มีสมาธิสั้น หัดเล่นดนตรี จะเป็นการกระตุ้น ให้เด็กเกิดความสนใจในดนตรี และได้มีการระบายอารมณ์ออกมา ทำให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย เด็กจึงมีสภาพของอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถจดจำเนื้อร้องต่างๆ ได้ และสามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กทั่วไปได้ดีอีกด้วย ในครั้งหน้าเราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของการใช้ดนตรีในการบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยดนตรีบำบัด ด้วยวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจจะช่วยลดการกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ส่งเสริมการผ่อนคลายทางร่างกาย และทำให้เกิดความสุข ความงดงามทางจิตใจด้วย จุดประสงค์ของการนำดนตรีมาใช้ ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวด ไปสู่ความสุขสบายเพลิดเพลิน และดนตรียังเพิ่มแรงจูงใจทำให้อยากเคลื่อนไหว มีบางครั้งที่พบว่าในยามปกติ เราอาจเป็นคนรักเสียงเพลงและร่วมกิจกรรมด้านดนตรี แต่เมื่อมีความเจ็บป่วยกลับปฏิเสธที่จะฟังดนตรี จึงควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ในกรณีที่ไม่ชอบ
ในการบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็งก่อนอื่นเราต้องคำนึงถึงความต้องการ ความพร้อมที่จะใช้วิธีดนตรีบำบัดต่อมาก็สำรวจในเรื่องประสบการณ์ด้านดนตรีความสามารถด้านดนตรี ประเภทเพลงที่ชอบ เครื่องดนตรีหรือเพลงที่คุ้นเคยซึ่งจะช่วยให้การจัดกิจกรรมดนตรีง่ายขึ้น และเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นประทับใจ หลังจากนั้นในการบำบัดต้องมีการจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัด ใช้หมอน ผ้าห่ม ในการช่วยพยุงปรับให้อยู่ในท่าที่พอดี และควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิเย็นสบาย ไม่มีเสียงรบกวน ปรับแสงสีในห้องให้เย็นตา สะอาด เรียบร้อย สวยงามควรเลือกใช้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ที่จะสามารถใช้ได้เองด้วยตนเองตามสะดวกและปลอดภัย ที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือควรมีการประเมิน ความเจ็บปวด ความวิตกกังวลของผู้ป่วยทั้งก่อน-หลังทำค่ะ ในการจัดให้ผู้ป่วยฟังดนตรีควรจัดให้ฟังในเวลาที่ยาลดความเจ็บปวดกำลังออกฤทธิ์ และใช้เทคนิคการผ่อนคลายร่วมด้วย เวลาที่ใช้ในการฟัง หรือจำนวนครั้งที่ฟังในแต่ละวันก็มีผลในการลดความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ดนตรีสามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ถึงจุดหนึ่ง และเป็นเวลาชั่วคราว จึงจำเป็นต้องฟังตามอาการเป็นประจำ ดนตรีที่ใช้ในการบำบัดความเจ็บปวด ควรเป็นเพลงบรรเลงไม่มีเนื้อร้อง, มีเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนก น้ำตกร่วมด้วย ควรมีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ดนตรีที่ใช้ควรมีทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ผ่อนคลายสดชื่นระดับเสียงควรจะปานกลาง - ต่ำ ไม่ควรเปิดดังมากเพราะความดังของของเสียงอาจไปกระตุ้นความเจ็บปวดให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ดนตรีที่นิยมใช้ เช่น พิณ เปียโน กีต้าร์ วงออร์เคสตร้า แจ๊สแบบช้า นุ่มนวล ป๊อปและเพลงคลาสสิก เป็นต้น
มีหลักฐานทางการวิจัยหลายชิ้นระบุถึงประโยชน์ของดนตรีที่มีต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง พบว่าช่วยลดความเจ็บปวด สามารถจัดการกับความเครียด ภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล นอนไม่หลับ และการไม่อยากอาหาร สามรถช่วยควบคุมการหายใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจให้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและยังช่วยทารกที่ต้องคลอดก่อนกำหนดให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดจำนวนวันที่อยู่ในตู้อบ และเพิ่มน้ำหนักตัว คนไข้ที่ผ่านการผ่าตัด เมื่อได้ฟังดนตรีจะช่วยลดการปวดและลดความต้องการใช้ยาแก้ปวด นอกจากนั้นดนตรียังช่วยลดความวิตกกังวล ซึมเศร้า โดดเดี่ยวในผู้ป่วยสูงอายุ ช่วยผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้มีอาการดีขึ้นได้อีกต้วย
การนำดนตรีมาใช้บำบัดด้วยเทคนิคที่เรียกว่า วันทูไฟว์ ซึ่งพบว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลายด้าน ทั้งด้านความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การไหลเวียนของโลหิต ความดันโลหิต การเต้นของชีพจรและการตอบสนองของม่านตา และผลของดนตรียังมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ สติสัมปชัญญะและจินตนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดนตรีบำบัด เปิดเผยถึงการคิดค้นเทคนิควันทูไฟว์ว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเทคนิคนี้ มาจากการสอนเปียโนที่มักทำให้เกิดความเครียดกับทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งหลักการที่จะทำให้ผู้เรียนเล่นเปียโนได้ดี โดยไม่กดดัน ก็คือห้ามดุด่า และให้ผู้เรียนเลือกเพลงที่จะเล่นเอง โดยได้คิดค้นเทคนิคใหม่ คือ ใช้ตัวเลข หนึ่งถึงห้าแทนตัวโน้ต ทำให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดสามารถเรียนรู้หรือเข้าถึงได้โดยง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านคนตรีมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ดนตรีบำบัดได้นำเทคนิคนี้มาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตที่โรงพยาบาลศรีธัญญา พบว่าได้ผลดี ทางโรงพยาบาลจึงใช้เป็นแนวทางการบำบัดด้วยดนตรีและได้จดลิขสิทธิ์ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว สำหรับเทคนิควันทูไฟว์สามารถใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตหลายประเภทด้วยกัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า เด็กออทิสติก เด็กดาวซินโดรม เป็นต้น.
จะเห็นได้ว่าดนตรีนั้นสามารถทำอะไรได้มากกว่าการที่เราจะฟังเพื่อการแก้เหงาแต่ดนตรีได้ให้ประโยชน์กับเราอย่างมากมายถ้าเรารู้จักเลือกที่จะฟัง การฟังก็มีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสภาวะทางอารมณ์ในขณะนั้นร่วมด้วยแต่ที่สำคัญการฟังให้เหมาะสมกับสภาวะความเจ็บป่วยของร่างกายจึงเป็นการใช้ดนตรีบำบัดที่เกิดประโยชน์ คงไม่มีใครคัดค้านความคิดที่ว่า
"ดนตรีสามารถเบี่ยงเบนความสนใจหรือความหมกมุ่นในใจของคนเรา ให้หันเหออกไปจากจุดเดิมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความเจ็บปวด…”
แนวคิดในการทำบทความเรื่อง ดนตรีบำบัด
เนื่องจากการฟังดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการฟังดนตรีนั้นสามารถช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินใจได้ แต่ประโยชน์ของการฟังดนตรีไม่ได้มีเท่านั้น ยังมีคนส่วยมากที่ยังไม่ทราบว่าการฟังดนตรีนั้นสามารถบำบัดโรคที่เป็นปัญหาทางสุขภาพได้ เช่น การฟังดนตรีเพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดและทรมานของร่างกาย การใช้ดนตรีบำบัดสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการใช้ดนตรีบำบัดในการแก้ไขปัญหาของลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยเด็ก เพื่อช่วยในการสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีให้แก่เด็กได้อีกด้วย ผู้จัดทำจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟังดนตรีเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการบำบัดโรค จึงได้นำบทความที่สาระสำคัญในเรื่องนี้มานำเสนอเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนได้ และมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะมีหลักการที่ถุกต้องในการเลือกฟังดนตรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด