วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โยเกิร์ต

โยเกิร์ต

โยเกิร์ต นมเปรี้ยวที่คนไทยรู้จักในรูปแบบต่างๆ อาจจะไม่ใช่นมเปรี้ยวที่เรากำลังจะกล่าวถึงเพราะ โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวที่ดีจะต้องมีแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ จุดประสงค์ของการรับประทานนมเปรี้ยวที่ถูกต้องคือ การรับประทานแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตจำนวนมาก(ประมาณ หมื่นล้านต้วต่อกรัม)เพื่อหวังผลต่อสุขภาพ

ส่วนนมเปรี้ยวที่เราหาซื้อกันในท้องตลาดทำขึ้นโดยมีการปรุงแต่งรสชาติให้อร่อย บางชนิดไม่สมควรเรียกว่าโยเกิร์ตเสียด้วยซ้ำเพราะนำไปพาสเจอร์ไรซ์(ฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง)และนำมาบรรจุกล่อง ที่จริงน่าจะเรียกว่าซากโยเกิร์ต บางชนิดก็มีการใส่น้ำตาลมากจนน่าสงสัยว่าท่านจะได้ประโยชน์ได้เต็มที่หรือไม่ บางชนิดก็มีการเจือจางจนปริมาณแบคทีเรียเหลืออยู่น้อยมาก

แบคทีเรียที่ดีในโยเกิร์ต ได้แก่ แลคโตบาซิลัส เอซิโดฟิลลัส( Lactobacillus acidophillus) แลคโตบาซิลัส บัลการิคัส ( Lactobacillus bulgaricus) และ สเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลลัส ( Streptococcus thermophillus)

โยเกิร์ตสามารถ ทำได้จากนมชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นมสด นมพร่องมันเนย หรือ นมถั่วเหลือง โดยการใช้แบคทีเรีย แลคโตบาซิลัส เอซิโดซิส และ สเตรปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลลัส เป็นหลักใส่ลงไปหมักผลิตภัณฑ์นมต่างๆ แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้เป็นกรดแลคติคทำให้มีภาวะกรดและมีรสเปรี้ยว

ดังนั้นโยเกิร์ตที่ดีควรทำจากนมชนิดต่างๆและแบคทีเรียที่ดีเท่านั้น ไม่ควรมีส่วนผสมอย่างอื่นเข้าไปเจือปน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล สี สารเจลาติน รสสังเคราะห์ ส่วนผสมเหล่านี้ล้วนทำให้คุณค่าของโยเกิร์ตด้อยลง แม้ว่าเราอาจจะไม่คุ้นเคยต่อรสโยเกิร์ตธรรมชาติ แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ท่านก็จะสามารถรับประทานโยเกิร์ตธรรมชาติด้วยความสบายใจและอร่อย